การเขียนเรียงความคือ
เรียงความ คือ การนำเอาความรู้ความคิดเห็น ตลอดจนความจำเรื่องราวต่าง ๆ มาปรับปรุงเรียบเรียงขึ้นเป็นเรื่องราวโดยใช้ศิลปะในการเรียบเรียง รู้จักเลือกสรรถ้อยคำใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม รู้จักผูกประโยคให้เป็นข้อความที่กระชับรัดกุม สละสลวย มีน้ำหนักและสามารถลำดับความได้ชัดเจน อ่านเข้าใจง่าย น่าอ่าน
ที่มา : ชำนาญ นิศารัตน์และคณะ ( 2536 : 56 )
องค์ประกอบการเขียนเรียงความ
องค์ประกอบของเรียงความมี 3 ส่วนดังนี้
1. คำนำ เป็นองค์ประกอบตอนเริ่มต้นเรียงความ มีความสำคัญคือ เป็นส่วนที่จะดึงดูดความ
สนใจผู้อ่านให้สนใจอ่านเนื้อเรื่อง คำนำที่ดีต้องเร้าใจ สะกิดใจผู้อ่านให้เกิดความสนใจและช่วยนำไปสู่ประเด็นสำคัญของเรื่อง ความยาวไม่เกิน 10 บรรทัด
2. เนื้อเรื่อง เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของเรียงความ เพราะเป็นส่วนที่ต้องแสดงความรู้ความ
คิดเห็นให้ผู้อื่นทราบตามโครงเรื่องที่วางเอาไว้ เนื้อเรื่องประกอบด้วยย่อหน้าหลายย่อหน้าที่เป็นสาระสำคัญย่อยของเรื่อง สาระสำคัญย่อยเหล่านั้นประกอบกันเป็นสาระสำคัญใหม่คือตัวเรื่องทั้งหมด
3. การสรุป คือการลงท้ายหรือส่งท้ายเรื่อง วิธีการเขียนสรุปมีหลายวิธีดังนี้
– สรุปโดยการย้ำแนวความคิดหรือประเด็นสำคัญของเรื่องอีกครั้งหนึ่งเป็นการส่งท้าย
– สรุปโดยการกล่าวถึงความสัมพันธ์ของเรื่องกับเนื้อเรื่องที่เขียนตอนต้น
– สรุปด้วยสุภาษิต คำคม สำนวนโวหาร คำพังเพย อ้างคำพูดของบุคคล ทฤษฎี หลักศาสนา คำสอนต่างๆหรือบทร้อยกรอง ฯลฯ
– สรุปโดยใช้ประเด็นขัดแย้งให้ผู้อ่านใช้วิจารณญาณ
– สรุปโดยการแสดงความรู้สึก หรือความคิดเห็นส่วนตัว
หลักการเขียนเรียงความ
หลักการเขียนเรียงความมีดังนี้
- เขียนชื่อเรื่องไว้กึ่งกลางหน้ากระดาษ
- ลายมือเขียนให้ชัดเจนอ่านง่าย เขียนให้ถูกต้อง
- เว้นที่ว่างทางด้านซ้ายและขวาให้พองาม ไม่เขียนตกขอบกระดาษและไม่เขียนฉีกคำ
- ก่อนลงมือเขียนต้องวางโครงเรื่องก่อน เพื่อลำดับเรื่องราวให้เป็นไปก่อนหน้าหลังไม่วกวน
- เขียนเรียงความต้องมี คำนำ เนื้อเรื่อง สรุป
- การย่อหน้าไม่ควรเขียนเรียงความย่อหน้าเดียว อย่างน้อยจะต้องย่อหน้า คำนำ เนื้อเรื่อง สรุป ในเนื้อเรื่องอาจจะมีย่อหน้าอื่นได้แล้วแต่เนื้อเรื่อง การย่อหน้าแต่ละครั้งต้องตรงกัน
- เนื้อเรื่องกับชื่อเรื่องต้องมีความสัมพันธ์กัน จึงจะเรียกได้ว่าตรงตามจุดประสงค์ มีเอกภาพ สัมพันธภาพ ต้องพยายามจัดลำดับความคิดให้ดี ไม่ควรใช้ภาษาพูดหรือภาษาไม่สุภาพ