คำคม คืออะไร หลักการเขียนคำคม

 

คำคม   หมายถึง  ถ้อยคำที่หลักแหลมชวนให้คิด หรือถ้อยคำ ข้อความ ที่มีความหมายอยู่ในตัว ด้วยการกล่าวซ้ำคำบางคำในข้อความนั้นๆ ให้มีความหมาย เกี่ยวพันกับเนื้อหาความเดิม คำคมที่ดีต้องแสดงถึงการใช้ความคิดหรือแสดง ให้เกิดความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความลึกซึ้งเมื่อได้อ่าน

จุดมุ่งหมายในการเขียนคำคม

เมื่อพิจารณาจากความหมายของคำคมดังกล่าวข้างต้น  พอสรุปถึงจุดมุ่งหมายในการเขียนคำคมได้ว่า  เพื่อต้องการให้ผู้อ่านได้แง่คิดในเรื่องต่าง ๆ ที่เขียนขึ้น  ซึ่งอาจเป็นข้อเตือนจิตสะกิดใจ  ในการประพฤติปฏิบัติตนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  ซึ่งจะต้องเป็นเรื่องสร้างสรรค์

ลักษณะของคำคม

คำคม มีหลายลักษณะดังนี้

1.  คำคมที่เป็นคำพูดธรรมดาไม่มีสัมผัส   โดยมากใช้คำง่าย ๆ ไม่ต้องแปล        อ่านแล้วเข้าใจได้ทันที   เช่น

“ความรักทำให้คนตาบอด”

“เวลาและกระแสน้ำไม่คอยใคร”

“ไม่มีใครรักเราเท่าพ่อแม่”

“เบื้องหลังก้อนเมฆยังมีพระอาทิตย์ส่องแสงอยู่”

“กินอยู่แต่พอดี   ไม่ใช่กินอยู่ดี ”

“ความโกรธไม่เคยทำร้ายใคร   นอกจากตัวผู้โกรธเพียงคนเดียว”

“ไม่มีความหายนะใดยิ่งใหญ่กว่าความโลภและความไม่รู้จักพอ”

 

“เราคนเดียวไม่เก่งกว่าเพื่อนทั้งหมดรวมกัน”

“ให้รู้จักพอใจ   พอใช้   พอได้  พอดี  พอมี  พอเพียง”

“บ้าที่น่ากลัวคือบ้าอำนาจ   ฉลาดที่น่ากลัวคือฉลาดแกมโกง”

“ลืมที่อันตรายคือลืมตัว”

“อดีตคือสิ่งที่ผ่าน   อนาคตคือสิ่งที่ฝัน   ปัจจุบันเท่านั้นคือความจริง”

“อะไรก็ตามที่ทำแล้วทำให้เกิดทุกข์   จะหลีกหนีให้ไกลที่สุด”

“ตราบใดที่ทะเลยังไม่ไร้คลื่น   ท้องฟ้ายังไม่ไร้ดาว  ชีวิตของเราก็ยังมีความหวัง ”

 

2.   คำคมที่เป็นสัมผัสคล้องจองกันสั้น  ๆ ส่วนมากมี 2 วรรค เพื่อจดจำได้ง่าย  เช่น

“ซื่อกินไม่หมด   คดกินไม่นาน”

                        “เสียเหงื่อเพราะกีฬา   ดีกว่าเสียน้ำตาเพราะยาเสพติด”

“สร้างพระเดชมีแต่ขาดทุน   สร้างพระคุณมีแต่กำไร”

“โกรธคือนรก   งกคือเปรต ”

“ความสำเร็จของลูก   คือความสุขของพ่อแม่”

“อยู่อย่างสงบ   ดีกว่ารบด้วยปาก”

“ความงามไม่คงที่   ความดีซิคงทน”

“อันนารีไม่ใช่เลขคณิต   อย่าไปคิดให้หนักสมอง”

“เป็นนายท้ายเรือแจว   ดีกว่าไปเป็นลูกแถวเรือรบ”

“ผ่อนคันเร่งสักนิด   ต่อชีวิตอีกนาน”

“ชีวิตราคาแพง   อย่าแซงทางโค้ง”

“ฟ้าย่อมเปลี่ยนสี   นทีย่อมเปลี่ยนสาย  ร่างกายย่อมเปลี่ยนแปลง”

“อย่านอนตื่นสาย   อย่าอายทำกิน  อย่าหมิ่นเงินน้อย  อย่าคอยวาสนา

3. คำคมที่แต่งด้วยคำประพันธ์   ส่วนใหญ่มักแต่งด้วยกลอนสุภาพ  เช่น

 

ใครลืมลืมใครใจรู้                    ใครจะอยู่ใครจะไปใจเห็น

ใครสุขใครเศร้าเช้าเย็น                        ใจเป็นที่แจ้งแห่งเรา

ใครชอบใครชังช่างเถิด           ใครเชิดใครชูช่างเขา

ใครเบื่อใครบ่นทนเอา              ใจเราร่มเย็นเป็นพอ

ชาญ  สิโรรส

สอนพวกสัตว์ขัดใจไร้ประโยชน์

สอนคนโฉดดื้อเห็นไม่เป็นผล

สอนบัณฑิตผิดหมายจะอายคน

สอนใจตนนั่นแหละเลิศประเสริฐเอย

ชาญ  สิโรรส

เมื่อเจ้ามามีอะไรมาด้วยเจ้า

เจ้าจะเอาแต่สุขสนุกไฉน

เมื่อเจ้ามามือเปล่าจะเอาอะไร

เจ้าก็ไปมือเปล่าเหมือนเจ้ามา

พุทธทาสภิกษุ

อันที่จริงคนเขาอยากให้เราดี

แต่ถ้าเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้

จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย

ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน

หลวงวิจิตรวาทการ

By admin

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *